ผู้สมัครงาน
กลายเป็นเรื่องสะเทือนใจกันทุกฝ่าย กรณีเด็กถูกลักพาตัวไปจากโรงพยาบาล จากนั้นได้มาพบเจอกับแม่บังเกิดเกล้าอีกครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือส่งผลกระทบพุ่งตรงมาที่ตัวเด็ก ในขณะที่สองครอบครัวก็ต่างยังมีสายใยรักให้กัน แล้วแบบนี้เรื่องราวจะจบลงอย่างไร สิทธิการดูแลเด็กเป็นของใคร เด็กตัดสินใจเลือกครอบครัวเองได้หรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นเด็กจะจำได้หรือเปล่า รวมถึงที่ผ่านมาเกิดเหตุลักษณะนี้มากน้อยแค่ไหน วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ
รอบ 10 ปี มีเด็กทารกถูกลักพาตัว 11 ราย แต่ตามเจอทั้งหมด
มูลนิธิกระจกเงา องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการดูแลด้านสิทธิมนุษยชน เผยตัวเลขเด็กทารก (แรกเกิดถึง 11 เดือน) ถูกลักพาตัวว่า ในรอบ 10 ปี มีเด็กหายจากบ้านและโรงพยาบาลทั้งสิ้นรวม 11 ราย ทุกรายสามารถตามเจอทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ คือ 10 ราย หายและหาเจอไม่เกิน 7 วัน มีเพียงรายล่าสุดเท่านั้นที่หายกว่า 4 ปี ทุกรายมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำไปเลี้ยงดู มีความเสน่หาในตัวเด็ก ไม่ใช่ขบวนการค้ามนุษย์ โดยมักจะใช้วิธีการปลอมตัวเข้ามาทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจผิด เช่น ปลอมเป็นบุคลากรในโรงพยาบาล หรือ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเด็ก เข้าไปพูดคุยกับเด็กต่อหน้าพ่อแม่แต่พอเผลอก็อุ้มหนีมาก็มี
"การเจอตัวส่วนใหญ่จะเกิดจากการลักพาตัวไปแล้ว เด็กมีอาการป่วยแล้วพาไปเข้าโรงพยาบาลแล้วไม่มีเอกสาร เมื่อถามหาไม่พบเจ้าหน้าที่จะสงสัยไว้ก่อน นอกจากนี้ ยังมีประเภทที่เป็นข่าวใหญ่ ซึ่งเป็นการกดดันให้ คนร้ายรีบนำมาคืน" เจ้าหน้ามูลนิธิกระจกเงา เผย
มูลนิธิกระจกเงา เผยในรอบ 10 ปี มีเด็กหายจากบ้านและโรงพยาบาลทั้งสิ้นรวม 11 ราย ทุกรายสามารถตามเจอทั้งหมด มีเพียงรายล่าสุดเท่านั้นที่หายกว่า 4 ปี
ลูกน้อยถูกพรากจากอก ส่วนใหญ่ไม่เกิน 7 วัน นานสุด 4 ปี!
สำหรับตัวเลขสถิติทารกถูกขโมยนั้นประกอบด้วย
1.เดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2548 เด็กหญิง อายุ 11 เดือน ถูกขโมยจากหน้าบ้าน คนร้ายปลอมตัวเป็นหมอดู ตำรวจตามจนพบเพราะคนร้ายอยู่ไม่ไกลจากแถวนั้น เจ้าหน้าที่ สน.พระโขนง จับกุมได้
2.เดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2549 เด็กหญิง 6 เดือน ถูกพี่เลี้ยงเด็กลักพาตัวจากบ้านซึ่งมาทำงานได้วันเดียว ในเขตพื้นที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ โดยเจ้าหน้าที่สามารถตามไปจับได้ เพราะเจ้าทุกข์มีสำเนาเอกสารบัตรประชาชนของคนร้ายมาสมัครงาน
3.วันที่ 3 เม.ย.2549 คนร้ายลักพาตัวเด็กอายุ 2 วัน โดยปลอมตัวคล้ายเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ซึ่งลักจากโรงพยาบาลใน จ.ลพบุรี นำไปเลี้ยงดู และ ตามหาพบที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ
4.เดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 ถูกลักพาทารก อายุ 1 วัน ตัวจากโรงพยาบาลใน จ.ปทุมธานี เป็นแม่บ้านของโรงพยาบาล กำลังจะพาหนีออกจากโรงพยาบาลแต่สามารถจับกุมได้ก่อน
5.เดือนธันวาคม 2550 ทารกเพศหญิง 1 วัน ถูกลักพาตัวจากโรงพยาบาลใน จ.กาญจนบุรี คนร้ายเข้ามาตีสนิทแล้วขออุ้มจากนั้นก็ลักพาตัว กรณีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เช็กข้อมูลประวัติคนแท้งในโรงพยาบาล ก็ตามไปดูที่บ้านก็พบผู้ก่อเหตุ
ตามกฎหมายผิดในข้อหาพรากผู้เยาว์ จำคุกระหว่าง 3-15 ปี จะอ้างเหตุว่าทำไปเพราะไม่มีลูก หรือ อยากได้ลูก หรือ หลงรัก ไม่ได้
6.ทารกชาย อายุ 1 วัน ถูกลักพาตัวจากในห้องคลอด จากโรงพยาบาลใน จ.ภูเก็ต และไปพบที่โรงพยาบาลใน จ.กระบี่
7.เดือนกรกฎาคม 2553 เด็กหญิงอายุ 15 วัน ถูกขโมยจากบ้าน ที่ จ.สุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจกดดันจนนำเด็กมาคืน
8.เดือนธันวาคม 2553 ทำทีเป็นญาติคนไข้ เข้ามาอุ้มเด็กทารก 1 วัน ในห้องคลอด ในโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.ชุมพร เจ้าหน้าที่ตามจนพบเช่นกัน
9.เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ทารกเพศหญิง อายุ 2 วัน ถูกลักพาตัวที่โรงพยาบาลขอนแก่น กระทั่งมาพบอีก 4 ปีต่อมา
10.เดือนพฤษภาคม 2554 คนร้ายปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเข้ามาลักพาตัวเด็กชายอายุ 3 เดือนในโรงพยาบาลราชวิถี จากนั้นก็เป็นข่าวดังและสามารถตามตัวจนพบในวันนั้น
11.เดือนตุลาคม 2556 เด็กหญิงอายุ 2 วัน ถูกลักพาตัวไปจากโรงพยาบาลในพื้นที่สะเดา จากนั้นก็เป็นข่าวดังกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่กดดันและคนร้ายได้นำเด็กมาคืน
ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจ ไม่ใช่ว่า "อย่าไปบอกเดี๋ยวเด็กจะเสียใจ" ซึ่งแบบนี้เป็นวิธีทีการที่ผิด
สิทธิทางกฎหมาย ฟ้องเรียกทางแพ่งได้
ในเรื่องนี้ อ.วันชัย สอนศิริ ทนายความชื่อดัง ไขข้อสงสัยว่า ตามกฎหมายผิดในข้อหาพรากผู้เยาว์ จำคุกระหว่าง 3-15 ปี จะอ้างเหตุว่าทำไปเพราะไม่มีลูก หรือ อยากได้ลูก หรือ หลงรัก ไม่ได้ เพราะลูกมีพ่อแม่จะนำไปเลี้ยงเสมือนลูกก็ถือว่าผิด แต่จะมีข้อยกเว้นตรงที่ว่าคนร้ายเป็นคนสติฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ จะได้รับการยกเว้นโทษ หากสติดี แม้จะทำไปด้วยความรัก แต่เรื่องลูกเป็นของใครของมัน
"คดีนี้มีอายุความ 15 ปี ถ้าตราบใดขโมยไปแล้วไม่หลุดพ้น 15 ปีก็ยังโดนอยู่ แต่หากเอาไปเลี้ยงจนหมดอายุความไปแล้วก็ไม่มีความผิด"
หากเป็นเด็กที่ถูกเลี้ยงจนโตแล้วมารู้ทีหลังว่าถูกพรากจากอกพ่อแม่มา จะสามารถทำอะไรได้หรือไม่ อ.วันชัย กล่าวว่า ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้ปกครอง ผู้เสียหายคือผู้ปกครอง ยกเว้นเสียแต่ว่ามีการทารุณหรือทำร้ายเด็ก ซึ่งเรื่องนี้สามารถเอาผิดได้ เพราะเด็กคือเจ้าทุกข์ เพราะตามกฎหมายระบุว่าเป็นการ "พรากจากปกครอง" หรือ "พรากจากการดูแล" เพราะฉะนั้นหากพ่อแม่ไม่อนุญาตก็ถือเป็นความผิดทั้งสิ้น
อ.วันชัย สอนศิริ ทนายความชื่อดัง
อย่างไรก็ดี การฟ้องร้องทางแพ่งก็อาจจะทำได้ เพราะเป็นการละเมิด ทำร้าย ทำลายจิตใจ ทำให้เขาเกิดความทุขเวทนา เป็นเรื่องทางจิตใจ กฎหมายถือว่าเป็นการละเมิด ส่วนคดีอาญาก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่เรื่องเยียวยาทางจิตใจทำให้เราโหยหาลูกหลายปี สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ ส่วนจะเรียกเท่าไหร่ก็แล้วแต่ฐานะแต่ละบุคคล 10 ล้าน ถึง 100 ล้านก็เรียกได้ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับศาลท่านจะเป็นผู้วินิจฉัย
ส่วนเรื่องสิทธิในตัวเด็ก เป็นเรื่องของพ่อแม่มีสิทธิ เพราะหากมีการพิสูจน์ DNA กันแล้ว พ่อแม่ก็มีสิทธิอย่างเต็มที่ในตัวเด็ก หากไม่คืนก็มีความผิดทางอาญา แต่ถ้าคืนก็อาจจะมองว่าเป็นการบรรเทาผลร้าย รับโทษน้อยลง เพราะได้สำนึกผิด
เด็กมีสิทธิในการเลือกผู้ปกครองหรือไม่ ทนายความชื่อดังกล่าวว่า ไม่มี เพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่เรื่องความคุ้นชินกับฝ่ายไหนก็ขึ้นอยู่กับศิลปะการพูดคุยระหว่างผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร หากอีกฝ่ายจะขอเป็นลูกบุญธรรม เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กหากไม่ยอมก็ไม่สามารถทำได้ จะมาอ้างว่าเด็กรัก แต่คุณลักพามา แบบนี้ไม่มีสิทธิจะอ้างได้ เพราะสิ่งที่ทำมาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ถ้าเด็กโตขึ้นมาพอสมควรก็จะเกิดความรู้สึกสับสน ไม่สามารถแยกแยะหรือหาคำตอบได้
ร่องรอยความรัก-ความเจ็บ ยังฝังในส่วนลึก
ในเรื่องของจิตใจเด็กนั้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์กล่าวว่า หากการเลี้ยงดูดีที่สุด เด็กจะมาจากพ่อแม่ตามกรรมพันธุ์ (พ่อแม่ผู้ให้กำเนิด) หรือเลี้ยงเด็กกำพร้าหากได้รับความรักความเอาใจใส่ คุณภาพการเลี้ยงดูก็ไม่ได้แตกต่างจากพ่อแม่จริงๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าเด็กรู้มาตั้งแต่ต้นว่า คนที่เลี้ยงดูอยู่ ไม่ใช่พ่อแม่จริงๆ เมื่อเด็กโตขึ้นมา ก็ย่อมที่จะอยากจะรู้ว่าพ่อแม่ที่แท้จริงคือใคร ส่วนกรณีที่เด็กมารู้ทีหลังว่าคนที่เลี้ยงดูไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริง แบบนี้เด็กจะมีความรู้สึกผิดหวัง ไม่สบายใจ เกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งมันจะเชื่อมโยงกับความผูกพัน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างที่เลี้ยงดูกันมา
"แต่ถ้าเป็นเจตนาที่ไม่ดี อย่างการไปขโมยเขามา แล้วเอามาเลี้ยงเป็นลูกของตัวเอง ในความถูกผิดนี้ ถ้าเด็กโตขึ้นมาพอสมควรก็จะเกิดความรู้สึกสับสน ไม่สามารถแยกแยะหรือหาคำตอบได้ เด็กจะมีคำถามอยู่ในใจ แล้วคำตอบที่ได้ ก็จะไม่ชัดเจน จากพ่อแม่ที่แท้จริงหรือพ่อแม่ที่ไปขโมยเด็กมา ส่วนผลที่จะมีต่อเด็กนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในกรณีเด็ก 4 ขวบ ตามความชอบธรรม พ่อแม่ที่แท้จริงจะต้องรับช่วงดูแลต่อ ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก อาจต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่งในการปรับตัว แต่เชื่อว่าความรักความเอาใจใส่ที่เกิดจากพ่อแม่ที่แท้จริง จะทำให้เด็กปรับตัวได้ไม่ยาก"
คุณหมอทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า โดยทั่วไป เด็กจะเริ่มจดจำคนที่เลี้ยงดูได้ตั้งแต่ยังแบเบาะ โดยใน 6 เดือนแรก เด็กจะมีภาวะ "พรากจาก" ซึ่งทำให้มีความวิตกกังวล เวลาไม่มีคนอยู่ใกล้ๆ โดยแสดงออกด้วยการร้องไห้ อย่างไรก็ดี หากมีคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ แต่สามารถให้การเลี้ยงดูที่ดีได้ เด็กอาจจะไม่สามารถแยกได้ว่าคนนั้นคือผู้ปกครองตัวจริงหรือตัวปลอม เนื่องจาก เด็กจะรับรู้ได้แค่การดูแล กิน อยู่ หลับ นอน เท่านั้น แต่ไม่สามารถแยกได้ว่าใครเป็นใคร อาจจะแยกได้ว่าเป็นผู้หญิง แต่ไม่รู้ว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นแม่
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
"การยื้อแย่งระหว่างผู้ปกครองตัวจริงกับตัวปลอม จะไม่ส่งผลต่อจิตใจเด็ก เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู ส่วนการที่เด็กจะจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้หรือไม่นั้น มีปัจจัยมาจาก ประสบการณ์ ร่องรอยของความเจ็บปวด หรือ ความรักความอบอุ่นบางอย่างที่เด็กชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ในกรณีนี้ ถ้าหากรอยต่อระหว่างการดูแลของแม่ตัวจริงกับแม่ตัวปลอม สามารถทำได้ดีเหมือนกัน เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร"
ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวต่อไปว่า ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องนี้ไม่ซับซ้อน เชื่อว่าความเป็นแม่ทางสายเลือดน่าจะผ่านจุดนี้ไปได้ แม้เด็กจะอายุ 4 ขวบ จะมีการรับรู้แล้วก็ตาม แต่เป็นการรับรู้ได้ตามวัย อีกทั้งเด็กยังอยู่ในช่วงประถมวัย ซึ่งสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีได้ ด้วยการดูแลอย่างใกล้ชิดและการดูแลตามกายภาพเบื้องต้น โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง หมั่นสังเกตว่าอะไรคือสิ่งที่เด็กต้องการ แล้วให้หาสิ่งนั้นมาเติมเต็ม อีกอย่างคือ ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจ ควรเปิดเผยความจริงตั้งแต่เนิ่นๆ ใช้การอธิบายสั้นๆ โดยพูดในด้านดี เพื่อเติมเต็มประสบการณ์เชิงบวกเพิ่มเข้าไปจากที่เขาเคยได้รับมา บางคนบอกว่าอย่าไปบอก เดี๋ยวเด็กจะเสียใจ ซึ่งแบบนี้เป็นวิธีการที่ผิด
หากผู้ปกครองต้องการคำแนะนำหรือเทคนิควิธีการ สามารถไปรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ได้ที่ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองมาก.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved
jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด